Friday, June 25, 2010

สรุปกรณีการเสียชีวิตของ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง



นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ขณะเสียชีวิตมีอายุ 17 ปี เป็นบุตรชายของนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง และนาง วร สายศิลา เนื่องจากบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน และต่อมาบิดามารดาได้แยกทางกัน ผู้ตายจึงอยู่ในความดูแลของ นางสา ถิตย์บุญครองผู้เป็นย่า

ผู้ตายเคยถูกพิพากษาจลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 15 วันในข้อหาลักทรัพย์ หลังจากนั้นในช่วงที่รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสร้างผลงานกันอย่างจริงจัง เป็นช่วงเวลาที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นมาผลจากนโยบายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งตำรวจให้เหตุผลว่าการเสียชีวิตนั้นเนื่องมาจากการฆ่าตัดตอนกันเองของผู้ค้ายาเสพติด หรือหากเป็นการเสียชีวิตจากตำรวจเองก็เป็นเพราะผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ขัดขวางจึงต้องทำการวิสามัญฆาตกรรม ในช่วงเวลาดังกล่าวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้ตายก็พบผู้เสียชีวิตรวมทั้งบุคคลที่ถูกอุ้มหาย ที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้นจำนวน 28รายด้วยกันได้แก่

1. นายประเสริฐ กรุงศรีวัฒนา ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546
2. นายจตุพล นันนาเชือก ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 ที่หน้าโรงเรียนอนุกูลนารี
3. นายทองจัน ภารพีถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 ที่กระท่อมปลายนาบ้านเตาไห อ.เมืองกาฬสินธุ์
4. นายสุพรรณ พลอยวิเลิศ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 บริเวณซอยคำผลพัฒนา เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
5. นายชาญชัย กอหาญ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547
6. นางแพง แสงสว่าง ถูกยิงเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 ที่บ้านโจด ต.ภูปอ อ.เมืองกาฬสินธุ์
7. นายพิทูรย์ ไร่เกียรติ ถูกยิงเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547
8. น.ส.น้ำฝน ดลรัศมี ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ถนนโค้งพร้อมพรรณ
9. นายประวิทย์ สัตวุธ ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ที่สวนสาธารณะกุดน้ำกิน เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
10. นายสงกรานต์ เดชกรภัทร ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547
11. นายด๊าด ปาทาน ถูกยิงเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547
12. นายกฤตชาดล ปัญจะ หายตัวอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2547
13. นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ถูกฆ่าแขวนคอ เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2547
14. นางอ้อยนภา สุขประสงค์ หายตัวโดยการถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547
15. นางวันทนา ทักษิมา หายตัวโดยการถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547
16. นายวัน ยุบลชู หายตัวไปในระหว่างกลับจากหาหมอฟันในอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548
17. นางสมหมาย ยุบลชู หายตัวไปในระหว่างกลับจากหาหมอฟันในอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548
18. นายสมสิน วรวัฒนาวงค์ ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2548
19. นายไพรวัลย์ ภูขิด ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548
20. นายสาคร สาระวิถี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548
21. นายวินัย โกมาร ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548
22. นายปรีชา คำประเทือง ถูกยิงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548
23. นายชัยวุฒิ เหลาเจริญ ถูกยิงเดือนมีนาคม 2548
24. นายปุ้ย หรือนายวินัย หนวดคำ ถูกฆ่าแขวนคอ วันที่ 23 เดือนมีนาคม 2548 ที่ ศาลามอดินแดง
25. นายอุดม นามไว ถูกยิงเสียชีวิต ที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรกาฬสินธุ์
26. นาย สุพรรณ ดอนชมพู หายตัวไประหว่างบ้านหนองแต้-บ้านหนองบัว ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549
27. นางลำยอง ดอนชมพู หายตัวไประหว่างบ้านหนองแต้-บ้านหนองบัว ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549
28. นายสมาน มีธรรม หายตัวอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ที่ถนนหลวงกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด บริเวณบ้านเตาไห อ.เมืองกาฬสินธุ์

โดยผู้เสียชีวิตทุกรายมีประวัติคดีติดตัว เช่นคดียาเสพติดและคดีลักทรัพย์ ในกรณีที่เสียชีวิตพบว่าหลายรายมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่นการถอดรองเท้าไว้ใต้ศพที่แขวนคอ และเมื่อมีการชันสูตรพลิกศพพบว่าผู้เสียชีวิตได้ถูกทรมานและทำร้ายร่างกายก่อนนำมาแขวนคอ ในช่วงเวลาดังกล่าว นายเกียรติศักดิ์ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาลักทรัพย์จนกระทั่งนำมาสู่ความตายในที่สุด

วันที่ 16 กรกฏาคม 2547
นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง พร้อมกับเพื่อนอีกสองคนได้แก่ นาย อดุลย์ ทองนาไชย และนาย-------ภูโคกก่อง ถูกจับกุมด้วยข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งการจับกุมนายเกียรติศักดิ์เป็นการขยายผลมาจากการจับกุมนายอดุลย์ ทองนาไชย ขณะกำลังขนชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ที่ผู้ตายนำมาขายให้ในราคา 200 บาท โดยมีนายดำรง เที่ยงตรงเป็นผู้เสียหาย

วันที่ 17 กรกฏาคม 2547
นางสา ถิตย์บุญครองผู้เป็นย่า ทราบข่าวว่าผู้ตายถูกจับและถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้ไปเยี่ยมผู้ตาย

วันที่ 19 กรกฏาคม 2547
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกนางสา ถิตย์บุญครอง ไปร่วมรับฟังการให้ปากคำของผู้ตาย ที่สำนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยไม่มีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ และทนายเข้าร่วมฟังการสอบปากคำแต่อย่างใด โดยผู้ตายได้รับสารภาพว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง หลังจากนั้นนางสาได้ขอเข้าเยี่ยมผู้ตายอีกแต่ถูกกีดกันการเข้าเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วันที่ 22 กรกฏาคม 2547
เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งนางสา ถิตย์บุญครองว่าจะมีผู้มาประกันตัวให้ผู้ตายคือ นายสุรศักดิ์ เรื่องศรีมั่น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความแปลกใจให้แก่นางสาเป็นอันมากเพราะ นายสุรศักดิ์ มิได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ตายแต่อย่างใด จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลก็ยังมิได้มีคำสั่งให้ประกันตัว พ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิตย์ จึงบอกให้นางสา กลับไปรอที่บ้าน ในระหว่างนี้เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ตำรวจได้อ้างว่ามีการปล่อยตัว นายเกียรติศักด์ ไปแต่จากข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ตายอยู่บนชั้นสองของสถานีตำรวจซึ่งในขณะนั้นมีบุคคลอื่นอยู่อีกได้แก่ นางรัชฎาภรณ์ ภูกาสอน นายมนต์ชัย ยลวิลาส และนางสาวอรัญญา มาหาญ ผู้ตายได้พูดกับนางสาว อรัญญา มาหาญว่า “น้าครับ ผมขอยืมโทรศัพท์หน่อย”โดยนางสาวอรัญญาเป็นผู้กดเบอร์โทรศัพท์เข้าใจว่าน่าจะเป็นเบอร์ที่บ้านผู้ตาย โดยผู้ตายบอกให้นางสารีบไปรับตัว เพราะตำรวจจะนำตัวไปฆ่า นางสาจึงได้ไปที่สถานีตำรวจ แต่ถูกกีดกันจากพ.ต.ต. สุมิตร ไม่ให้ขึ้นไปพบกับผู้ตายที่คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณชั้นสองของโรงพัก หลังจากนั้นผู้ตายได้โทรศัพท์ไปหานาย อภิชาต สีหาลุน น้าชายของผู้ตาย บอกให้รีบมารับ และบอกว่าได้ยินเสียงของนางสาอยู่ที่ชั้นล่างของสถานีตำรวจด้วย ต่อมานางสาและญาติได้ขึ้นไปยังชั้นสองของโรงพักแต่ไม่พบผู้ตาย มีเพียงกระเป๋าของผู้ตายวางอยู่ที่บริเวณนั้น นางสาจึงลงมาสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ความว่าผู้ตายกลับไปแล้ว นางสาจึงโต้แย้งว่ากระเป๋ายังอยู่ เจ้าหน้าที่จึงให้นางสากลับไปดูอีกครั้งหนึ่งแต่กระเป๋าใบดังกล่าวกลับสูญหายไปแล้ว

หลังจากนั้นนางสาจึงได้แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ความว่า พันตำรวจตรี สุมิตร นันทสถิตย์ ได้ปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ ตามหมายปล่อยตัวของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว แต่นายเกียรติศักดิ์ ยังมิได้กลับบ้าน

วันที่ 25 กรกฏาคม 2547
นางสาได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ว่าพบศพสงสัยว่าเป็นศพของ นาย เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ชาวบ้านพบศพที่กระท่อมกลางทุ่งนาใกล้พนังกั้นแม่น้ำชี หมู่ 5 ตำบลแสนชาติ อำเภอจังหาร จังหวัด ร้อยเอ็ด เจ้าหน้าที่ตำรวจสภอ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด จึงนำศพของนายเกียรติศักดิ์ ไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด นางพิกุล พรหมจันทร์ยื่นเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรม และได้นำศพไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรพลิกศพโดยละเอียดอีกครั้ง โดยสภาพศพมีผู้ตายถูกแขวนคอด้วยเชือกไนล่อนหลายรอบกับขื่อกระท่อม ที่ศรีษะด้านซ้ายมีแผล มีรอยช้ำตามต้นขาและหน้าท้อง ลูกอัณฑะถูกบีบจนแตก ข้อมือทั้งสองข้างมีรอยรัด เท้าเปื้อนโคลน แต่รองเท้าที่วางอยู่ที่พื้นไม่มีรอยเปื้อนโคลน

วันที่ 26 กรกฏาคม 2547
นางสา ถิตย์บุญครอง ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์ กรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง

นาง พิกุล พรหมจันทร์เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับหนังสือไทยรัฐในกรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจในกรณีนี้เป็นอันมาก โดยพุ่งเป้าไปที่ว่าต้นเหตุของการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่ตำรวจก็ให้ความสนใจว่าคดีที่เกิดขึ้นอาจจะมีสาเหตุเนื่องมาจากการฆ่าตัดตอนกันเองของกลุ่มโจรกรรมรถเนื่องจาก จุดที่กลุ่มที่โจรกรรมรถยนต์ได้ส่งชิ้นส่วนรถยนต์ไปขายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ห่างจากบริเวณที่พบศพของนายเกียรติศักดิ์เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

วันที่27 กรกฏาคม 2547
นางพิกุล พรหมจันทร์ เข้าร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดย อาจารย์ วสันต์ พานิช และอนุกรรมการเจ้าหน้าที่ ได้เข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริงที่พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเดือนสิงหาคม และมีหลายครั้งที่ถูกติดตามคุกคาม

นางพิกุล พรหมจันทร์ เข้าร้องเรียนที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม ผลการรายงานเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเห็นควรด้วยที่ให้ยุติการสืบสวน

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย

1. พันตำรวจเอก พรหม ผางสง่า รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานกรรมการสืบสวน

2. พันตำรวจโท ส่งเสริม แก้วลาย รองผู้กำกับการ(ส.ส.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอกมลาไสย เป็นกรรมการ

3. พันตำรวจโท ทองสุข นารีจันทร์ รองผู้กำกับการ(ส.) ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่าข้าราชการตำรวจรายใดของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนเกี่ยวข้องใดกับการหายไปและการตายของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง กรณีนี้จึงไม่มีมูลที่จะเอาผิดทางวินัยตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 77,78,79และมาตรา 84 และหรือทางอาญา จึงเห็นควรยุติการสอบสวนซึ่งเห็นเช่นเดียวกับสำนวนสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ดเจ้าของสำนวนการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบศพ

วันที่ 28 กรกฏาคม 2547
นางพิกุล พรหมจันทร์ เข้าร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันที่ 29 กรกฏาคม 2547
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เปิดเผยถึงรายงานผลการชันสูตรศพนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครองโดยแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ว่า ก่อนเสียชีวิต ผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณจนเกิดบาดแผลตามจุดต่างๆในร่างกายหลายแห่ง ผู้ตายขัดขืนกลุ่มคนร้ายจนมีการฉุดกระชาก บริเวณข้อมือมีรอยกุญแจมือ อัณฑะถูกบีบจนเขียวช้ำอย่างรุนแรงและมีรอยปริแตก คล้ายวิธีการ “ดีดไข่” เพื่อต้องการทรมานให้ผู้ต้องหาคายความลับบางอย่าง บริเวณลำคอพบว่ามีการใช้เชือกไนล่อนรัดคอหลายรอบอย่างแรงจนลิ้นจุกปากขาดอากาศหายใจ ต่อมาคนร้ายได้นำศพขึ้นแขวนคออำพรางให้เหมือนว่าเป็นการฆ่าตัวตายเอง

วันที่ 30 กรกฏาคม 2547
นาง พิกุล พรหมจันทร์ ญาติของผู้ตายได้นำเอกสารเกี่ยวกับคดี และผลการชันสูตรศพไปยื่นแก่ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ปัจจุบันนี้สภาทนายได้มีมติให้รับคดีนี้ไว้ช่วยเหลือแล้ว

วันที่ 9 สิงหาคม 2547
นางพิกุล พรหมจันทร์เข้าร้องเรียนที่สภาผู้แทนราษฏร โดยประธานกรรมาธิการตำรวจเป็นผู้รับเรื่องและที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน มีผลสรุปยุติ โดยไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

วันที่ 15 สิงหาคม 2547
เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา

ความว่า เมื่อมีการจับกุมตัวนายเกียรติศักดิ์นั้นได้แจ้งให้นางสาทราบแล้ว และการสอบสวนนั้นได้ทำต่อหน้าบุคคลที่เด็กร้องขอ นักจิตวิทยา ทนายความและอัยการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดในการสอบผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่แจ้งข้อหาแล้วและได้มีการลงชื่อของนายเกียรติศักดิ์ด้วย โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ต่อมาตามคำร้องขอของนางสา ถิตย์บุญครองซึ่งเป็นญาติภรรยาของพ.ต.ท. สำเภา ยินดีให้หาบุคคลมาประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ให้เนื่องจากตนไม่มีหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการประกันตัวได้ พ.ต.ท. สำเภา ยินดี จึงให้นายสุรศักดิ์ เรื่องศรีมั่น เป็นผู้ประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ เมื่อเวลา 16.30 เมื่อได้รับหมายปล่อยตัวพ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิตย์ จึงปล่อยตัว นายเกียรติศักดิ์ไป ต่อมาด.ต.สุทธินันท์ โนนทิง ได้พบตัวนายเกียรติศักดิ์บริเวณหน้าสถานีขนส่งจึงเรียกตัวมาสอบสวนเพราะสงสัยว่าหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ แล้วได้เชิญตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมาถึงสถานีตำรวจนายเกียรติศักดิ์จึงได้พบกับนางสาวอรัญญา มาหาญ และได้ยืมใช้โทรศัพท์มือถือ ระหว่างนั้นมาด.ต.สุทธินันท์ โนนทิงได้ทำการตรวจสอบพบว่านายเกียรติศักดิ์ถูกจับกุมตัวและได้รับการประกันตัวออกไปแล้วจึงได้ปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ไปตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น.โดยพาตัวนายเกียรติศักดิ์ออกไปทางด้านหลังของสถานีตำรวจโดยขณะออกไปนายเกียรติศักดิ์ได้นำกระเป๋าออกไปด้วย จากนั้นนางสาได้มาที่สถานีตำรวจเพื่อตามหานายเกียรติศักดิ์และอ้างว่านายเกียรติศักดิ์อยู่บนชั้นสองของสถานีจึงได้ปล่อยให้นางสาขึ้นไปแต่ไม่พบตัวนายเกียรติศักดิ์ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.นางสา ถิตย์บุญครองจึงได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานถึงการหายตัวไปของนายเกียรติศักดิ์

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548
นางพิกุล พรหมจันทร์ ทำหนังสือร้องเรียนขอให้ท่านรองปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาโอดคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ พร้อมกับทำหนังสืออีกฉบับถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548
นาง พิกุล พรหมจันทร์ ทูลเกล้าถวายฏีกา

วันที่ 24 พฤษภาคม 2548
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายให้แก่ นางสา ถิตย์บุญครอง เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท

วันที่ 3 มิถุนายน 2548
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2548 ให้คดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสืบสวนตามมาตรา 22 วรรค 1 (2) แห่งพ.ร.บ.สืบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย

วันที่ 10 ตุลาคม 2549
พ.ต.ท ปิยวัฒก์ กิ่งเกตุ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าของสำนวนได้ทำการตรวจสอบที่เกิดเหตุที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมทั้งได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 108 ปากและนอกจากนี้ผลการชันสูตรศพของแพทย์ยังระบุว่าผู้ตายเสียชีวิตก่อน ถูกนำไปแขวนคอเป็นซึ่งก่อนที่จะพบศพผู้ตายเสียชีวิตมาแล้ว 8 ชั่วโมง

วันที่ 11 ตุลาคม 2549
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปผลในกรณีการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งให้มีการลงโทษตามกฎหมาย โดยขอให้รัฐดำเนินการภายใน 60 วันและให้เยียวยาแก่ผู้เสียหาย

วันทิ่ 18 พฤษภาคม 2552
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาได้แก่

1 พ.ต.ท. สำเภา อินดี

2 พ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิตย์

3 พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ

4 ด.ต. อังคาร คำมูลนา

5 ด.ต.สุทธินันท์ โนนทิง

6 ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์

ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย

วันที่ 20 พฤษภาคม 2552
ด.ต. อังคาร คำมูลนา , ด.ต. พรรณศิลป์ อุปนันท์, ด.ต. สุดธินันท์ โนนทิง เข้ารับฟังข้อกล่าวหาจากกรมสืบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อำพรางการตายโดยทั้งสามปฎิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอให้การในชั้นศาล

ในวันนี้ พ.ต.กิตติ ภักดีรักษ์พงศ์ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ควบคุมตัวทั้งสามนายยื่นต่อศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังครั้งแรกเป็นระยะเวลา 12วันตั้งแต่วันที่ 20-31 พ.ค. 52 เนื่องจากต้องรอสอบพยานเพิ่มอีก 3 ปาก รวมทั้งรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา จึงยื่นคัดค้านการขอประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และสะเทือนขวัญบุคคลทั่วไปเนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติกรรมคุกคามข่มขู่พยานจนพยานต้องขอเข้าโครงการขอคุ้มครองพยาน จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังแต่ผู้ต้องหาได้ขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน และ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้งสามเป็นหลักประกัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานมิฉะนั้นจะถอนประกัน

วันที่ 22 พฤษภาคม 2552
พ.ต.ท. สำเภา อินดี, พ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิต ,พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ
อ้างว่าตนติดภารกิจจึงขอเลื่อนการเข้ามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

วันที่ 28 พฤษภาคม 2552
พ.ต. กิตติ ภักดีรักษ์พงศ์ ควบคุมตัว พ.ต.ท. สำเภา อินดี มายื่นขอฝากขังครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.-8 มิ.ย. 52 เนื่องจากมีพยานปากสำคัญที่ต้องสอบอีกสองปาก รวมทั้งต้องรอเอกสารที่เกี่ยวข้องและสอบประวัติผู้ต้องหาทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง

ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดินศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมทั้งสั่งห้ามมิให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานมิฉะนั้นจะถอนประกัน

วันที่ 17 มิถุนายน 2552
พ.ต.อ. มนตรี ศรีบุญลือ เข้าพบตำรวจตามหมายเรียกโดยศาลเห็นว่าควรออกหมายขัง แต่ผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์คือตำแหน่าหน้าที่ในราชการตำรวจตำแหน่งผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเต่างอย จังหวัดสกลนครสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามผู้ต้องหาเข้ายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

วันที่ 2 กรกฎาคม 2552
พ.ต.ท. สุมิตร นันสถิตย์ เข้าพบตำรวจตามหมายเรียกโดยศาลเห็นว่าควรออกหมายขัง แต่ผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามผู้ต้องหาเข้ายุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน

วันที่ 22 กรกฏาคม 2552
กรมสืบสวนคดีพิเศษ รับคดี เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครองเป็นคดีพิเศษ ที่ 30/2548 และตามมาอีกคดีนายประวิทย์ สัตวุธ ถูกฆ่าแขวนคอที่สวนสาธารณะกุดน้ำกินในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นคดีพิเศษลำดับที่ 2 ต่อเนื่องมาคดีนายทองจันทร์ ภารพี ถูกฆ่าแขวนคอที่บ้านเตาไห อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เป็นคดีพิเศษลำดับที่ 3 รวม 3 คดีที่ได้เป็นคดีพิเศษในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องของจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังมีอีกหลายคดีที่รอความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม